วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ประเมินคุณภาพภายนอก รอบสอง...จะรอบไหนก็ไม่ชิน



โรงเรียนคลองบางกะสีของเรา ก็เป็นอีกโรงเรียนหนึ่ง ที่จะต้อง ถูกสมศ. ประเมินคุณภาพ รอบสอง กำหนดประเมิน 8-10 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา บริษัทที่จะมาประเมินคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด อยุธยาการประเมินคุณภาพการศึกษา ตรวจสอบแล้วคณะกรรมการมีคุณอรุณ รักษาทรัพย์ คุณศิริจันทรา โคกสีและคุณชออม วัชรเวท สำหรับกรรมการชุดนี้ โรงเรียนของเราเป็นโรงที่ 7 จากจำนวน 9 โรง ก็อดถามโรงเรียนที่ถูกประเมินก่อนหน้าเราว่า กรรมการชุดนี้เป็นอย่างไรบ้าง คำตอบที่ได้ก็ต้องบอกว่า สร้างความวิตกกังวลให้กับคุณครูของเรามากพอดู ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ประเมิน มาตั้งแต่เช้าอยู่จนมืด หรือการตรวจเอกสารที่ละเอียดละออและเจาะลึก ฯ ถึงผู้บริหารจะเพียรบอกเพื่อให้เราเลิกหวั่นวิตกอย่างไรพวกเราก็ยังอดไม่ได้อยู่ดีเมื่อมาถึงวันประเมินก็จริงเหมือนที่เขาบอกกันมา ประมาณ 6 โมงครึ่ง คณะประเมินก็มาถึงโรงเรียนแถมยังบอกอีกว่า หลงทางขับรถเลยไปตั้งไกล (ไม่อยากคิดว่าถ้าไม่หลงจะมาถึงสักกี่โมง) และก็จริงอีกเหมือนกัน นี่ 6 โมงเย็นแล้วคณะก็ยังไม่กลับ อื่นๆ ก็ไม่ผิดจากที่ได้ยินได้ฟังมา ช่างขุดช่างคุ้ย ช่างซักชั่งถาม ดูโน่นดูนี่รวมไปถึงขอโน่นขอนี่ด้วย เรียกว่าหลากหลายการประเมินทั้ง 3 วันก็เป็นแบบนี้ ก็คงมีคนสงสัยว่าแล้วเครียดไหม ก็ตอบตรงๆว่า ถ้าจะเครียดก็เครียดตอนก่อนคณะมา แต่พอถึงเวลาจริงๆ เรากลับไม่เครียด และนอกจากจะไม่เครียดแล้ว แถมเรายังยิ้มแย้มแจ่มใสได้ มีเสียงกระเซ้าเหย้าแหย่ระหว่างครูกับผู้ประเมินเป็นระยะๆ บรรยากาศมันดีเหลือเกิน ผู้ประเมินเป็นกันเอง มีความเป็นกัลยาณมิตรโดยแท้ พวกเราคงโชคดีที่ได้คณะกรรมการชุดนี้ในขณะที่เพื่อนๆอีกหลายโรงโชคร้าย(ไม่บอกหรอกว่าโรงไหน) แค่ฟังเขาเล่า เราก็มึนแล้ว ถ้าโดนเองจะขนาดไหน เผลอๆป่านนี้ยังเข้าโรงเรียนไม่ถูกเลย ในวันสุดท้ายของการประเมิน ช่วงบ่ายเป็นการรายงานด้วยวาจา ก็คงไม่มีโรงไหนโชคดีเหมือนเรา เพราะผู้อำนวยการเขต ท่านนิวัตต์ น้อยมณี กับ ศน.วิฑูรย์ ช่างโต มาให้กำลังใจและร่วม ฟังการรายงานของคณะกรรมการด้วย ผลการประเมินแบบอิงเกณฑ์ฟังดูก็เป็นที่น่าพอใจ แต่เรารู้อยู่แล้วว่า เราเสียคะแนนแบบอิงสถานศึกษา เพราะครั้งนี้ สมศ. กำชับและมี Flow Chart กำกับ เราหมดโอกาสได้คะแนนในระดับ 4 อย่างเก่งก็ 3 แต่ก็ไม่เป็นไร เราไม่ได้ลุ้นดีมาก แค่รอบนี้ไม่มีพอใช้ เป็นใช้ได้ ข้างบนคือร่างรายงานผลการประเมินในภาพรวม ขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมทุกเรื่องทุกรายการ

วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ปัญหาโลกแตก? ...........พูดจาภาษาครู

เมื่อสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก เรียนในโรงเรียนวัดชั้นประถม จำได้ว่าอ่านหนังสือออกเขียนหนังสือได้ตามปกติเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ แต่ก็มีเพื่อนในห้องเดียวกันหลายคนเหมือนกันที่ อ่านหนังสือไม่ค่อยได้ เขียนหนังสือไม่ค่อยถูก จึงถูกครูดุหรือว่าเป็นประจำ .. ทำไมโง่อย่างนี้ ... ไอ้ทึ่ม.... อะไรทำนองนี้
จากวันนั้นถึงวันนี้ ก็คงผ่านมา 40 กว่าปีแล้ว บังเอิญต้องมาเป็นครู ( ไม่คิดว่าต้องมาเป็น) จึงทราบว่าปัญหาของเด็กในปัจจุบันก็ยังคงเป็นอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เหมือนเดิมและดูเหมือนจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ปัญหาเหล่านี้ตอนเป็นเด็กรู้สึกเฉยๆ ไม่คิดอะไร แต่ตอนนี้เป็นครู มีหน้าที่ต้องดูแลเรื่องอย่างนี้จึงต้องคิด คิดได้แล้วก็พบความประหลาด ที่ว่าประหลาดก็คือ ปัญหานี้ถ้าไปเกิดกับเด็กชาวเขา หรือเด็กภาคใต้ ที่พูดภาษาถิ่นไม่พูดไทย เขาอ่านไทยเขียนไทยไม่ได้คงเป็นเรื่องปกติ (เหมือนเราเรียนภาษาอังกฤษ) แต่นี่เด็กเราพูดภาษาไทยชัดๆ พูดมากจนบางทีครูผู้สอนต้องห้ามพูด แต่กลับอ่านหนังสือไทยไม่ออก เขียนหนังสือไทยไม่ได้ แถมเป็นกันทั้งประเทศ จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฯ ต้องออกโรงหาทางแก้ เช่น จัดทำโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและรณรงค์ให้โรงเรียนทั่วประเทศดำเนินการด่วนและต่อเนื่อง และยังไม่มีใครตอบได้ว่าโครงการนี้จะอยู่คู่ไทยไปอีกนานแค่ไหน
ผมไม่ถนัดงานวิจัยตามหลักวิชาการ แต่ถนัดงานวิจารณ์ คือชอบศึกษาปัญหาด้วยวิธีการง่าย ๆเช่น สังเกต สอบถาม พูดคุย ศึกษาจากสภาพจริง ฯ อย่างเด็กอ่านหนังสือไม่ออก พบว่ามาจากสาเหตุหลากหลายประการ แต่ในภาพรวมประเด็นปัญหาที่น่าสนใจ คือ นิสัยรักการอ่าน คนไทยไม่มีนิสัยรักการอ่าน เคยอ่านพบในรายงานวิจัยว่า คนไทยอ่านหนังสือประมาณปีละ 7 บรรทัด ขอย้ำว่า แค่ปีละ 7 บรรทัด (ไม่ใช่ 7 หน้า ซึ่งถ้าใช่ก็ยังตกใจอยู่ดี เพราะมันน้อยเหลือเกิน) มันชี้ชัดว่าเมื่อเป็นเด็กไม่ชอบอ่านหนังสือ โตเป็นผู้ใหญ่ก็ติดนิสัยไม่อ่านหนังสือเช่นเดียวกัน ดังนั้นเราต้องไปแก้ปัญหาที่เด็กหรือเริ่มต้นที่เด็ก นั่นคือการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน
เริ่มตั้งแต่เมื่อเด็กโตขนาดจำความได้ (ยังอยู่ที่บ้าน) ผู้ปกครองคุณพ่อคุณแม่นั่นแหละ เป็นผู้จุดประกายโดยการเล่านิทานจากหนังสือ ให้เด็กได้ดูรูปประกอบ เด็กจะฝังใจ ว่าความบันเทิงสนุกสนานมันอยู่ในหนังสือ แต่คุณพ่อคุณแม่ปัจจุบันได้ทำกันหรือเปล่า หรือถ้าไม่ได้ทำ หน่วยงานไหนละจะเป็นเจ้าภาพ รับไปทำ (ถ้าไม่มีใครทำ เด็กเหล่านี้จะไม่มีนิสัยสนใจหนังสือมาจากบ้านเลย)
เดี๋ยวนี้มีอนุบาล 3 ขวบ ของหน่วยงานท้องถิ่น หรือมีชั้นปฐมวัยในโรงเรียนต่างๆ คุณครูผู้ดูแลได้ให้ความสนใจที่จะปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้เขาหรือไม่ โรงเรียนให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างไร เด็กได้ซึมซับหรือไม่ว่าหนังสือคือแหล่งหรรษาพาสนุก อ่านไม่ได้เปิดดูรูปก็ยังดี หรือเล่มไหนครูเคยเล่าเคยอ่านให้ฟังแล้ว เปิดดูรูปก็จำเรื่องได้ เล่าเรื่องเป็น ส่วนครู ป. 1 -3 ก็ทำแบบนี้ เชื่อว่าเด็กจะมีนิสัยรักการอ่านและมีการพัฒนาในการเลือกหนังสืออ่านได้เอง ทำ เรื่อยไปจนถึงชั้น ป. 6 ม.ต้น ม.ปลาย..........จนเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบอ่านหนังสือ ไปไหนมาไหนต้องถือหนังสือติดมือ ว่างเมื่อไร อ่านเมื่อนั้น
ผมเป็นครู( ซึ่งต้องวาดฝัน) อยากเห็นคนไทยติดหนังสือเหมือนฝรั่ง เคยเห็นฝรั่งที่นิวซีแลนด์ ยืนอ่านหนังสือขณะเข้าแถวรับบริการ ดูท่าทางเขาเพลิน ไม่กระวนกระวาย ผิดกับคนไทย ไม่มีใครหยิบหนังสือมาอ่านสักคน และดูหงุดหงิดขณะรอ ยิ่งมีใครช้าหรือทำหลายรายการยิ่งแล้วใหญ่
เมื่อจุดเริ่มต้นมันต้องเริ่มที่การปลูกฝังนิสัยการรักการอ่านให้กับเด็ก ห้องสมุดที่โรงเรียนจึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญเป็นอันดับแรก ก็ต้องหันกลับมามองดูห้องสมุดโรงเรียนของเราว่ามันมีหรือยัง
หรือสภาพมันเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้เขารณรงค์เรื่อง “ห้องสมุดมีชีวิต” ฟังดูก็ดี แต่ถ้ามองมุมกลับก็เหมือนยอมรับว่าที่ผ่านมามันตายสนิทใช่ไหม ปัญหาในการบริหารจัดการห้องสมุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนประถม ทั้ง คุณภาพและประสิทธิภาพของห้องสมุดยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานมาก ปัญหาที่พบในงานวิจัยมีทั้งตัวผู้บริหารเอง ตัวครูบรรณารักษ์หรือครูผู้รับผิดชอบ รวมถึงขาดงบประมาณด้านวัสดุครุภัณฑ์ อุปกรณ์ หนังสือที่เหมาะสมและปริมาณที่เพียงพอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการอย่างไรในการที่จะพัฒนาห้องสมุดอย่างเป็นรูปธรรมและมีความต่อเนื่อง เช่น อาจต้องใช้เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ โปรแกรมห้องสมุด เข้ามาบริหารจัดการ เพื่อช่วยลดภาระของครูหรือแก้ปัญหาขาดครูบรรณารักษ์หรือไม่ ต้องพัฒนา พัฒนาไปจนกว่าห้องสมุดโรงเรียนจะเป็นห้องสมุดที่สมบูรณ์และสามารถให้บริการได้จริงตามวัตถุประสงค์ และถ้าจะให้เป็นห้องสมุดมีชีวิตที่แท้จริง การกำหนดแนวทางการจัดกิจกรรมโดยใช้ห้องสมุดเป็นฐานเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง โดยต้องตั้งอยู่ในหลักการของความหลากหลาย ต่อเนื่องและ เสริมแรง กล่าวคือ
หลากหลาย คือ หลากหลายด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่ห้องสมุดต้องจัดให้สมาชิกเพื่อให้ได้รับความรู้ ประสบการณ์และสนใจห้องสมุด
ต่อเนื่อง คือ กิจกรรมที่ห้องสมุดต้องจัดเป็นระยะตลอดปีและทุกปี เพื่อให้สมาชิกได้ร่วมกิจกรรมตลอดเวลา
เสริมแรง คือ การให้รางวัลสำหรับสมาชิกที่ร่วมกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นคำชมเชย สิ่งของ วุฒิบัตร เพื่อให้ห้องสมุดเป็นที่น่าสนใจ
การดำเนินงานของห้องสมุดถือว่าเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของการที่จะทำให้เด็กรักการอ่านและป้องกันปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ในอนาคต ยุทธศาสตร์นี้จึงเป็นยุทธศาสตร์เชิงรับ
เมื่อปลายเดือนมกราคม 2551 ที่ผ่านมา โรงเรียนคลองบางกะสีของเราได้มีโอกาสต้อนรับพี่น้องเพื่อนครูจากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 1 จำนวน 8 โรงเรียน ประมาณ 60 คน ( ที่จำได้มี โรงเรียนบ้านอีนอ โรงเรียนชุมชนสัมพันธ์บ้านลาโละ โรงเรียนบ้านลูโบะบาตู โรงเรียนบ้านฮูแตยือรอและโรงเรียนบ้านบากง) ซึ่งมาศึกษาดูงานโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและโครงการห้องสมุดมีชีวิต ตอนหนึ่งผมได้บอกกับเพื่อนครูจากนราธิวาสว่า สาเหตุของปัญหาในด้านการอ่านและเขียนของเราคงมีความแตกต่างกัน เพราะเด็กของเขาพูดภาษามลายูไม่ได้พูดไทยเหมือนเด็กเรา ต้องนำวิธีการแก้ปัญหาของเราไปปรับบริบทให้เหมาะสม แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ ต้องจัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย ต่อเนื่องและมีการเสริมแรงเสมอ